เศรษฐกิจเชียงราย

 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 กับเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2555 หรือวันที่ 12 เดือน 12 ปี 2012 ที่ผ่านมา มีพิธีเทคอนกรีตชุดสุดท้ายในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมระหว่างอ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ เพิ่มจากเดิมที่มีแล้ว 3 แห่ง และเปิดให้บริการทั้งหมดแล้ว คือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร- สะหวันนะเขต) และสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คาม่วน)

สะพานแห่งนี้มีมูลค่าการก่อสร้าง 1,486.5 ล้านบาท ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 2553 และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2556 โดยเป็นความร่วมมือกันของ 3 ประเทศ คือ รัฐบาลไทย จีน และ สปป.ลาว ตามแผนงานการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง R3E (R3A) ที่เชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ในจีนตอนใต้ผ่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา และแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศไทยที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจะสามารถเดินทางหรือขนส่งต่อไปยังภาค อื่นๆของประเทศไทยตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา ดังนั้นสะพานแห่งนี้จึงมีบทบาทในการเชื่อมระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และสนับสนุนการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รวมทั้งการเชื่อมระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีนตอนใต้

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 นี้ จะช่วยผลักดันให้ จ.เชียงราย เป็นเมืองสำคัญและมีบทบาททางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบนของไทยมากขึ้น เพราะ จ.เชียงราย เป็นเมืองชายแดนที่สามารถขนส่งสินค้าและเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ไม่ต้องขนถ่ายสินค้าที่เกิดจากการขนส่งในแม่น้ำโขง และช่วยแก้ปัญหาการขนส่งทางน้ำตามแม่น้ำโขง เนื่องจากในช่วงเดือนมี.ค.พ.ค.ของทุกปีปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงมาก รวมทั้งในอนาคตอาจจะมีเส้นทางรถไฟจากสถานีเด่นชัยไปสิ้นสุดที่สถานีเชียงของ ทำให้การขนส่งสินค้าจากสะพานแห่งนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ตลอดจนการขนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้มีความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดสินค้าไปยัง สปป.ลาว และจีนตอนใต้ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปจากทั้งสองประเทศดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยหรือส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆได้สะดวกและรวดเร็วเช่นกัน ทำให้ในอนาคตมูลค่าการค้าชายแดนที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหากสามารถพัฒนาระบบการค้าและกฎระเบียบทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นแล้ว การค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ตลอดจนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆจะขยายตัวในลักษณะก้าวกระโดด

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนตอนใต้และ สปป.ลาว ซึ่งกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นตามการพัฒนาประเทศ เนื่องจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวตามเส้นทาง R3E และข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จะมีความสะดวกและรวดเร็ว ประกอบกับ จ.เชียงราย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมายและมีความหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่อยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดใกล้เคียงโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และน่าน และในอนาคตจะทำให้ส่วนต่างระหว่างจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ ลดลงมากขึ้น

การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ ทำให้ จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ขยายตัวถึงร้อยละ 8.6 และ 17.8 ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ เทียบกับที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 6.8 ในปี 2552 (ก่อนจะมีการก่อสร้างสะพาน) และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวถึงร้อยละ 17-18 ในปี 2555 ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งในด้านการผลิต อสังหาริมทรัพย์ บริการ (โรงแรม รีสอร์ต และโรงพยาบาล) และ โลจิสติกส์ เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการท่องเที่ยวในอนาคต ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.เชียงของ มีจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติ เช่น จีน เวียดนาม รวมทั้งไทย

สำหรับด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย ในอนาคตนั้น ผลจากการลงทุน ตลอดจนการค้าและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเริ่มเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เห็นได้จากกรณีที่มีการก่อสร้างและเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 2 (เชื่อมระหว่างจ.มุกดาหาร กับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว) เมื่อปี2549 ซึ่งเศรษฐกิจของ จ.มุกดาหาร เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องแม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2552

ที่มา : สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)



อ่านต่อ: http://www.thai-aec.com/698#ixzz2R3ZNzTRf

 

Visitors: 148,006