ที่มาของโครงการ

  โครงการสวนอุตสาหกรรมริมกก จังหวัดเชียงราย  ได้พัฒนาขึ้นโดย บริษัท กลอเรีย พรีซิชั่น จำกัด  ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2554 ที่มีมหาอุทกภัยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง  ทำให้แหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเกิดความเสียหายมีมูลค่ามหาศาล  โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ  ได้รับผลกระทบจากเหตุที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง  และโรงงานที่เป็นแหล่งผลิตชิ้นงานหนึ่งในนั้นคือ บริษัท กลอเรีย พรีซิชั่น จำกัด  ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ก็ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถป้องกันมวลน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมเครื่องจักรและอุปกรณ์ชิ้นงานรวมทั้งเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์ต่างๆได้ทัน  ด้วยความเร็วและรุนแรงของมวลน้ำทะลักเข้าท่วมเต็มพื้นที่โรงงาน  ความเสียหายมูลค่าเกือบหนึ่งร้อยล้านบาท  ทำให้ผู้บริหารของบริษัท กลอเรียฯ มีแนวคิดที่จะหลีกเลี่ยงจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีก  จึงได้สอบถามและชักชวนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่  ว่าจะมีบริษัทฯ หรือโรงงานอุตสาหกรรมใดจะขยายหรือไปตั้งฐานการผลิตในพื้นที่จังหวัดเชียงรายบ้าง  ซึ่งมีผลตอบรับจากหลายบริษัทฯ  ยินดีที่จะเข้าร่วมในโครงการ  ด้วยความคุ้นเคยและสนิทสนมระหว่างผู้บริหารของบริษัทต่างๆ  กับบริษัท กลอเรีย ฯ ซึ่งย้อนกลับไป  20 กว่าปี  หลังจากที่ไปศึกษาดูงานที่บริษัท NMB ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี  เมื่อกลับมาทำงานสักพักก็ได้เปิดบริษัทฯ  รับงานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มายาวนานกว่า 20 ปี  จึงมีผู้บริหารทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวไทย  ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด

 

ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัท กลอเรียฯ  จึงมาจังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตภาคเหนือ  โดยรวบรวมกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่จัดตั้งอยู่ในแต่ละแห่งแต่ละพื้นที่  ซึ่งตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจายนอกเขตอุตสาหกรรม  ให้เข้ามาตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกัน  ให้อยู่รวมกันในลักษณะเขต/สวนอุตสาหกรรม  โดยจำแนกเป็นโซนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน  ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต  เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์  ระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ  ลดการสูญเสียพลังงาน  เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน  โดยภาพรวม  จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นโดยตรงทั้งระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น  ไฟฟ้า  ประปา  ถนน  และมีระบบควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้     

Visitors: 148,005