ระบบสาธารณูปโภค
ระบบสาธารณูปโภคและการจัดการสิ่งแวดล้อม
การจัดระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โครงการได้ออกแบบให้สอดคล้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2550 ข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ระบบถนน
ถนนสายประธาน มีเขตทางกว้างประมาณ 36 เมตร ขนาด 6 ช่องจราจร ทั้งนี้ถนนสายประธานจะเชื่อมต่อกับถนนทางหลวงชนบท ชร. ถนนสายรองประธาน มีเขตทางกว้างประมาณ 18 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร
น้ำใช้และแหล่งน้ำใช้
เมื่อมีการพัฒนาโครงการคาดว่า จะมีความต้องการใช้น้ำรวมประมาณ 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยเป็นน้ำใช้สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งนี้โครงการจะรับน้ำประปาจากบริษัท ริมกก อินดัสเทรียล ปาร์ค จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมริมกก ซึ่งมีความสามารถในการผลิตน้ำประปาสูงสุดประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยบริษัทฯ ดังกล่าวสามารถให้บริการน้ำประปา ต่อโครงการ ได้อย่างเพียงพอภายในพื้นที่โครงการ
ระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม
โครงการใช้บ่อหน่วงน้ำจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย บ่อหน่วงน้ำแห่งที่ 1 มีขนาดความจุ ประมาณ 368,000ลูกบาศก์เมตร และบ่อหน่วงน้ำแห่งที่ 2 มีขนาดความจุประมาณ 192,000 ลูกบาศก์เมตร รวมมีความจุทั้งสิ้นประมาณ 560,000 ลูกบาศก์เมตร โดยทำหน้าที่เป็นบ่อหน่วงน้ำฝนที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่โครงการ ซึ่งสามารถรองรับน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง และโครงการจะสูบน้ำฝนออกนอกพื้นที่ โครงการในอัตราการระบายไม่เกินก่อนการพัฒนาโครงการ
ปริมาณน้ำเสียและการจัดการ
จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียบำบัดทางชีวภาพแบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge : AS) สามารถบำบัดน้ำเสียได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ลบ.ม./วัน สามารถรองรับน้ำเสีย จากพื้นที่อุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นประมาณ 1,614 ลบ.ม./วัน
กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นให้มีลักษณะคุณสมบัติเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่โครงการกำหนดไว้ก่อนส่งมายังระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของโครงการ
โครงการจะบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายในโครงการให้มีคุณภาพน้ำทิ้งตามมาตรฐานของ ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม
กำหนดให้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ BOD/COD Online และ DO Meter Online บริเวณบ่อหน่วงน้ำทิ้ง (Holding Pond) เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งภายหลังผ่านการบำบัด ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ และระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป
กำหนดให้โครงการระบายน้ำทิ้ง ภายหลังผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในช่วง ฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม) และห้ามระบายน้ำทิ้งในช่วงฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน-เมษายน)
ปริมาณมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลฯ
เมื่อโครงการเปิดดำเนินการคาดว่า จะมีปริมาณมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลฯ ที่เกิดขึ้น ประมาณ 24.2 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็นมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลฯ ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่อุตสาหกรรม
มูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยย่อยสลาย เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ใบไม้ ถุงพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้โครงการจะจัดเตรียมถังรองรับมูลฝอยขนาด 200 ลิตร สำหรับรองรับมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยย่อยสลายวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในพื้นที่ของโครงการ สำหรับโรงงานในพื้นที่กำหนดให้มีการจัดเตรียมภาชนะสำหรับรองรับมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยที่สามารถย่อยสลายได้ วางไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อรวบรวมก่อนส่งให้หน่วยงานท้องถิ่นรับไปกำจัดต่อไป
มูลฝอยที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ เช่น เศษกระดาษใช้แล้ว กระดาษแข็ง เศษขวด/แก้ว เศษไม้ และเศษพลาสติก ฯลฯ โครงการและโรงงานอุตสาหกรรมจะคัดแยกและขายให้แก่ผู้รับซื้อของเก่าต่อไป
มูลฝอยอันตราย เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านอัลคาไลน์ และกล่องใส่หมึกพิมพ์ ฯลฯ ส่วนใหญ่เกิดจากอาคารสำนักงาน คาดว่าจะมีปริมาณร้อยละ 5 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือคิด เป็นปริมาณมูลฝอยอันตรายประมาณ 1.04 ลูกบาศก์เมตร/วัน ทั้งนี้โครงการจะต้องติดต่อให้หน่วยงาน ภายนอกที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมารับนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
การจัดการคุณภาพอากาศ
โครงการจะพิจารณาถึงประเภทของกิจการ ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศต่ำและพิจารณาถึงประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษของโรงงานที่จะเข้ามาตั้งภายในพื้นที่ของโครงการ
โครงการจะกำหนดสิทธิการระบายมลพิษ เพื่อควบคุมมิให้ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากโครงการ มีค่าเกินกว่าความสามารถในการรองรับมลพิษทางอากาศบริเวณพื้นที่ศึกษา
ระบบไฟฟ้า
ทั้งนี้โครงการรับไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขา เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง จัดเตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเพื่อพัฒนาโครงการ มีระยะเวลาประมาณ 36 เดือน ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับกิจกรรมก่อสร้าง จึงเพียงพอและผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของชุมชนบริเวณใกล้เคียง จะอยู่ในระดับต่ำ
โครงการจะขอรับไฟฟ้าเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงงาน ระบบสาธารณูปการส่วนกลาง และสำนักงานด้วยความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้า พบว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับโครงการได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น คาดว่าผลกระทบจากการใช้ไฟฟ้าของโครงการต่อการใช้ไฟฟ้าของชุมชนจึงไม่ได้รับผลกระทบ