เชื่อมโยงอาเซียน
AEC :เชียงรายยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอาเซี่ยน
วันที่ 19 ก.ย. 2012 เวลา 11:32 น.
"ข้ามโขงสู่ AEC 2015" เป็นเวทีสัมมนาที่ถูกจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชฑูตจาก 4 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียตนาม ร่วมกับจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของจังหวัดภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ ในการเชื่อมโยงประเทศของสมาชิกกลุ่มอาเซี่ยนในภูมิภาคนี้
เริ่มจากเส้นทางการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ซึ่งทำให้เชียงรายเชื่อมโยงกับหลายประเทศของกลุ่มชาติสมาชิกอาเซี่ยน โดยมีเส้นทางบกที่สามารถเชื่อมต่อกับสปป.ลาว ไปจนถึงเวียตนาม และทะลุไปถึงจีนทางตอนใต้
โดยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ในเดือนมิถุนายนปีหน้าจะสามารถเชื่อมต่อเส้นทางบกเข้าไปถึง สปป.ลาว เรื่อยไปจนถึงเมือง"คุนหมิง"ทางตอนใต้ของจีน และยังนับเป็นจุดเชื่อมต่อของประเทศอาเซี่ยน กับประเทศคู่ค้าสำคัญคือจีน และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันเกือบ 3,000 ล้านคน
เชียงรายยังมีท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยกับจีนตอนใต้โดยจะเชื่อมโยงกับท่าเรือ"กวนเล่ย"และ"จิ่งหง"ของจีนเป็นระยะทาง 360 กิโลเมตร และสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางถนนไปสู่เมือง"คุนหมิง"ของมณฑล"ยูนนาน"ที่ถือเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดของไทย และอาเซี่ยนด้วย โดยสามารถรองรับสินค้านำเข้า และส่งออกได้ปีละกว่า 600,000 ตัน ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นไม้ ลำใย น้ำมันดีเซล ไก่แช่แข็ง และน้ำมันปาล์ม /ปัจจุบัน มีมูลค่าการค้าสูงนับหมื่นล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูก และระยะทางไม่ไกล ทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงกัมพูชา และเวียตนามได้ด้วย
เชียงราย ยังเตรียมยกระดับจุดผ่านบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นด่านสากลเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย ซึ่งขณะนี้ กำลังมีการเจรจากันระหว่างกรมศุลกากร 4 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว และจีน
โดยพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เป็นพื้นที่รอยต่อ 3 ประเทศคือไทย ลาวและพม่านับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีท่าเรือขนาดเล็ก ที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังจีน และลาว และยังสามารถล่องแม่น้ำโขงไปเที่ยวทางตอนใต้ของจีน ที่ดินแดนสิบสองปันนา และคุนหมิง ได้อีกด้วย
นอกเหนือจากการค้าการลงทุนแล้วจังหวัดเชียงราย และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ยังถือเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมล้านนาที่เข็มแข็งมาก ฉะนั้นการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซี่ยน นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงเสาเศรษฐกิจแล้ว ยังถือเป็นการเชื่อมโยงในเรื่องของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ของกลุ่มประเทศในแถบนี้ด้วย