ญี่ปุ่นไม่หวั่นการเมืองไทยยืดเยื้อ ปักหมุดไทยฐานการผลิตเบอร์1
รัฐ-เอกชนประสานเสียง ญี่ปุ่นไม่หวั่นการเมืองไทยยืดเยื้อ ปักหมุดเลือกไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อันดับหนึ่ง เหตุเชื่อมั่นศักยภาพการผลิตไทย คาดนักลงทุนญี่ปุ่นอีกกว่า 200 รายย้ายฐานสู่ไทยในปี 2014-2015 ส่วนงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2014 มหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งคัน เดินสายโรดโชว์หนัก จีบนักลงทุนทั่วเอเชียกว่า 20 ประเทศ เข้าร่วมชมงาน พร้อมเจรจาทางธุรกิจ
นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมจัดงานแสดงสินค้า ภายหลังจากการเดินสายร่วมคณะผู้แทนการค้า และจัดกิจกรรมโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสมาคมรับช่วงการผลิต โดยระบุว่า การจัดงานแสดงสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมของไทยยังดำเนินต่อไปได้ด้วยดี แม้ว่าอุตสาหกรรมโดยรวมจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อ โดยพิจารณาจากการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตและการขึ้นรูป (Mold & Die) ชิ้นส่วนยานยนต์ ในช่วงเดือนมกราคม 2014 ที่มีมูลค่า 1,427,934,843 บาท หรือสูงขึ้น 11% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2013 ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนเพื่อการส่งออกของนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
โดยจากผลสำรวจกลุ่มสมาชิกองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ที่ยืนยันเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อันดับหนึ่ง โดยมีอินโดนีเซีย อันดับสอง และอินเดีย อันดับสาม
โดยนักลงทุนญี่ปุ่นจากโตเกียว นากาโน และซันโจ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตชิ้นส่วนที่มีความละเอียดสูง ( Hi Precision ) กว่า 200 ราย พร้อมยกทัพย้ายฐานการผลิตสู่ไทย ในปี 2014 - 2015 คาดเม็ดเงินสู่ไทย ไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท
"ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ผลิตกว่า 1,800 ราย โดยมีผู้ผลิตแบบ OEM มากถึง 709 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตรถรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นต่างได้เปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนขึ้นในไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ผลิตระดับโลกที่มาเปิดโรงงานเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าของตนที่มีการประกอบรถในประเทศไทยอีกหลายราย ขณะที่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ป่น (Japan Automobile Manufacturers Association) ยอมรับว่า ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยมีคุณภาพดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตท้องถิ่น 80-90% สำหรับการประกอบรถกระบะ และ 70% สำหรับการประกอบรถยนต์โดยสาร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ สำหรับการประกอบรถจักรยานยนต์ได้เองเกือบทั้งหมด"
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและองค์ความรู้ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถรองรับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น งานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2014 (Manufacturing Expo 2014) มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งคัน ระหว่างวันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2556 ณ ไบเทค บางนา จะเป็นเวทีชั้นยอดสำหรับคนในวงการที่ต้องการทลายข้อจำกัด และเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายต่างๆ โดยภายในงาน นักอุตสาหกรรมจะได้สัมผัสเครื่องจักรเพื่อการผลิตชิ้นส่วนอย่างครบวงจรมากกว่า 1,600 แบรนด์จาก 30 ประเทศ และมากกว่า 60% ในปีนี้จะเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า นักอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยยังคงเป็นฮับของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ พร้อมเป็นศูนย์กลางกระจายการส่งออกสู่ตลาดอาเซียนอีกด้วย
ในส่วนของการเตรียมงานงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป ในปีนี้ ได้เน้นกิจกรรมโรดโชว์ เพื่อเชิญชวนนักอุตสาหกรรมทั่วเอเชียกว่า 20 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น เข้าร่วมชมงาน และเจรจาธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมาย นับเป็นงานแสดงสินค้างานเดียวเพื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทุกระดับให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายทางธุรกิจ โดยคาดว่าจะมีนักอุตสาหกรรมร่วมงานกว่า 50,000 รายจากทั่วภูมิภาคอาเซียน ภายในงานจะประกอบด้วย 4 งานแสดงหลัก คือ InterPlas Thailand สำหรับการผลิตพลาสติกและยาง InterMold Thailand สำหรับการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูป Automotive Manufacturing สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Assembly Technology สำหรับระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีการประกอบ